อาหารเช้า มาจาก ภาษาอังกฤษ คำว่า “Breakfast” แปลว่าเป็นการหยุดกระบวนการอดอาหาร ถ้านับจากมื้อเย็นจนเช้า ร่างกายอดอาหารมาแล้วนานกว่า 10 ชั่วโมง การกินอาหารหลังจากตื่นนอนจึงเป็นการบอกร่างกายว่า “ฉันเอาอาหารมาให้แล้วนะ ทำงานให้ดีด้วย” จึงเป็นที่มาของคำว่า Breakfast นั่นเอง
อาหารเช้าก็ควรจะกินภายใน 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน (Noma Nazish, 2018) เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบเผาผลาญของร่างกายให้ดีขึ้น ถ้าเราใช้เกณฑ์ 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอนแล้ว เวลาอาหารเช้าก็จะผันแปรไปตามเวลาการตื่นนอน ไม่ได้มีเวลาตายตัวอีกต่อไป ถ้าตื่น 10 โมงเช้า กินข้าว 12.00 น. ก็ยังถือว่ากินอาหารเช้าแล้ว คิดแบบนี้ก็จะเป็นธรรมกับอาชีพที่ทำงานเป็นกะด้วย
หลายคนมีคำถามว่า นม 1 แก้วนับเป็นอาหารเช้าได้หรือไม่ อาหารเช้าที่ดีควรจะเป็นอย่างไร?
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำตอบไว้ค่ะ ถ้าจะให้ดีที่สุด อาหารทุกมื้อรวมทั้งอาหารเช้า แต่ละมื้อควรจะเป็นอาหารที่ครบ 5 หมู่ คือมีทั้ง ข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน ผักและผลไม้ แต่ในสภาพความเป็นจริง ด้วยมื้อเช้าเป็นมื้อที่เร่งรีบสำหรับหลายๆคน อย่างน้อยที่สุดควรจะมี 3 กลุ่มอาหาร ได้แก่ ข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ และผัก/ผลไม้ (กรมอนามัย,2562) เช่น เมนูข้าวผัด ที่ประกอบด้วย ข้าว ไข่ และผัก หรือ เมนูข้าวเหนียวหมูปิ้ง ที่ยังขาดผัก/ผลไม้อยู่ อาจจะเพิ่มด้วยกล้วยสัก 1 ลูก ก็ช่วยเติมเต็มสารอาหารในมื้อเช้าได้อย่างง่ายๆ แล้วค่ะ
นอกจากนี้ เพื่อความสะดวกของคนทำอาหารด้วยแล้ว ถ้าอาหารเช้าเป็นเมนูง่ายๆ ที่ได้สารอาหารครบถ้วน ทำได้รวดเร็ว และรสชาติอร่อยด้วยแล้ว ก็จะเป็นมื้ออาหารเช้าที่ดีสำหรับทุกคนได้ค่ะ
#food4goodth #พี่อิ่มท้องน้องอิ่มด้วย #FOODFORGOOD #การให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหาร
ผู้เขียน ภักษ์ภัสสร สระฉันทพงษ์ นักโภชนาการ FOOD FOR GOOD